วัดพระนอน สุพรรณบุรี ไหว้พระ 9 วัด
วัดพระนอน ตั้งอยู่ใน ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ติดแม่น้ำท่าจีน วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปที่สำคัญ คือรูปปั้นพระพุทธรูปขนาดเท่าคนจริงอยู่ในลักษณะนอนหงาย ซึ่งได้ถูกขุดค้นพบในบริเวณวัดพระนอนนี้ และมีลักษณะคล้ายพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย
วัดพระนอน เป็นวัดเก่าแก่สมัยอู่ทอง สุพรรณบุรี ได้มีการค้นพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ที่เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีลายประทับและฝาภาชนะที่มีลักษณะของภาชนะดินเผาสมัยอยุธยา เครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์เหม็ง เครื่องสังคโลกเป็นจำนวนมาก
เนื้อหา
- ประวัติ ข้อมูลเกี่ยวกับวัด
- พระพุทธรูปสำคัญ
- พระนอนปางต่างๆ
- วิหารพระนอน
- ปูชนียบุคคล
- อุทยานมัจฉา
- เที่ยววัดพระนอน
- แผนที่ การเดินทาง
- เส้นทางท่องเที่ยวไหว้พระ 9 วัด
วัดพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดพระนอน เป็นวัดเก่าแก่สมัยอู่ทองสุวรรณภูมิ ได้มีการขุดค้นพบพระพุทธไสยาสน์ปางนอนหงายถวายพระเพลิง พร้อมกับเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ที่เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีลายประทับและฝาภาชนะที่มีลักษณะของภาชนะดินเผาสมัยอยุธยา เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง เครื่องสังคโลก เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และได้รับการปรับปรุงบูรณะเป็นวัดขึ้นใหม่ขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจมากมาย เช่น
“วิหารพระนอน” เป็นวิหารทรงจตุรมุข โดยได้มีการต่อเติมมุขด้านหน้าทางทิศตะวันออก เชื่อมต่อริมแม่น้ำท่าจีน ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาไหว้พระ ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดพระนอน จุดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ แปลกว่าที่อื่นตรงที่เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร คล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
“อุทยานมัจฉา” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด มีปลานานาชนิดชุกชุม ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด โดยทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ใกล้ ๆ กับอุทยานมัจฉาเป็น “ศาลเจ้าแม่กวนอิม” ซึ่งผู้สนใจสามารถแวะเข้าไปสักการะเจ้าแม่ได้นอกจากนี้แล้ว บริเวณโดยรอบวัด ยังมีการปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ ทำให้วัดดูร่มรื่นสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เชิดหน้าชูตาแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
พระพุทธไสยาสน์ปางนอนหงาย วัดพระนอน สุพรรณบุรี
พระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในวัดต่างๆ เป็นพระพุทธรูปที่มุ่งเน้นแสดงถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยวัดทั่วไปจะเป็นพระพุทธสีหไสยาสน์ปางประทับนอนตะแคงขวา หรือปางโปรดอสุรินทราหู ในประเทศไทยมีเพียง 3 วัดเท่านั้นที่จะมีพระพุทธไสยาสน์ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในลักษณะประทับนอนหงาย และพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพานประทับนอนหงายนี้ องค์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่เมือง กุสินารา ประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
พระพุทธไสยาสน์ ปางนอนหงาย หรือปางถวายพระเพลิง นั้นเท่าที่สืบทราบปัจจุบันมีประดิษยฐานอยู่เพียง 3 วัด ดังนี้
- วัดราชคฤห์ กทม สร้างในสมัยกรุงธนบุรี
- พระนอนหงายวัดพระนอน ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
- พระนอนหงาย วัดทุ่งน้อย บ้านทุ่งน้อย ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งที่วัดนี้เป็นพระนอนหงายปูนปั้น มีพุทธศิลปแบบศิลปะสมัยสุโขทัย ประทับหงายพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองเหยียดประสานกันบนพระนาภี (สะดือ) มีขนาดยาว 5.70 เมตร กว้าง 1.50 เมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก หลวงพ่อมา ปทุมฺรตโน เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ.2480
พระพุทธไสยาสน์ปางต่างๆ (พระนอน)
คำว่า “ไสยาสน์” หมายถึง นอน “พระพุทธไสยาสน์” ก็คือ พระพุทธรูปในท่าบรรทม (นอน) ส่วน “สีหไสยาสน์” หมายถึง ท่านอนอย่างราชสีห์ คือ อิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายวางทอดไปตามพระวรกาย พระบาททั้งสองตั้งเรียงซ้อนกัน กำหนดใจให้นอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ และตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด
คติการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั้น เดิมมุ่งเน้นใน “ปางปรินิพพาน” เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ เป็นการเตือนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยง แม้พระพุทธองค์เองยังเลี่ยงไม่พ้น ส่วนในการตั้งให้พระพุทธรูปประจำวันของผู้เกิดวันอังคารนั้น ก็เพราะตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคารนั่นเอง
ตามความคุ้นเคยเมื่อได้เห็นพระพุทธไสยาสน์ จึงมักเข้าใจว่าเป็นปางปรินิพพาน ความจริงแล้วตามพุทธประวัติมี “พระพุทธไสยาสน์ทั้งหมด 9 ปาง” ซึ่งในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะนิยมสร้าง “ปางโปรดอสุรินทราหู” และ “ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน” อันจะเห็นได้โดยทั่วไป ส่วนปางอื่นๆ นั้นมีน้อยมากหรือไม่ก็มักปรากฏเป็นภาพวาดภาพจิตรกรรม
พระพุทธไสยาสน์ปางต่างๆ
ปางที่ 1 ปางทรงพระสุบิน
มีพุทธอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระพาหาขวาแนบกับพื้น ยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ งอนิ้วพระหัตถ์แนบกับพระปราง หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับในลักษณะสีหไสยาสน์
ปางที่ 2 ปางทรงพักผ่อนปกติ
มีพุทธอิริยาบถประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ เหมือน “ปางโปรดอสุรินทราหู” นอนตะแคงข้างขวา พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายวางทอดไปตามพระวรกาย พระกัจฉะทับบนพระเขนย อุ้งพระหัตถ์ขวาประคองพระเศียรให้ตั้งขึ้น แต่ มีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยนวดเฟ้นอยู่ด้านหลัง
ปางที่ 3 ปางโปรดอสุรินทราหู
มีพุทธอิริยาบถประทับนอนตะแคงข้างขวาแบบสีหไสยาสน์ พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบทอดไปตามพระกาย พระกัจฉะทับบนพระเขนย อุ้งพระหัตถ์ขวาประคองพระเศียรให้ตั้งขึ้น ซึ่งโดยส่วนมากจะสร้างเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และเป็นพระพทุธสีหไสยาสน์ที่นิยมสร้างมากที่สุด
ปางที่ 4 ปางทรงพยากรณ์พระอานนท์
มีพุทธอิริยาบถ ประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางระหว่างพระนาภี
ปางที่ 5 ปางโปรดพระสุภัททปริพาชก
มีพุทธอิริยาบถ ประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เสมอระหว่างพระพาหา เป็นกิริยาขณะทรงแสดงธรรม
ปางที่ 6 ปางปัจฉิมโอวาท
มีพุทธอิริยาบถ ประทับนอนตะแคงขวาแบบสีหไสยาสน์ แต่มีลักษณะพิเศษ คือ พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์ (นิ้วหัวแม่มือจดข้อนิ้วมือแรกของนิ้วชี้) เสมอพระอุระ
ต่อไปนี้เป็น พระพุทธไสยาสน์”ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน” ซึ่งแบ่งออกได้อีก 3 ลักษณะ จึงนำมาแยกออกเป็น 3 ปาง ดังนี้
ปางที่ 7 ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 1)
มีพุทธอิริยาบถ ประทับนอนตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระเขนย พระบาททั้งสองซ้อนกันฯ อันเป็นพระอิริยาบถตามธรรมชาติ ขณะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ถือว่าเป็นปางดับขันธปรินิพพานมีการสร้างมากที่สุดในประเทศไทย สามารถพบเห็นได้ตามวัดวาอารามทั่วไป
ปางที่ 8 ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 2)
มีพุทธอิริยาบถ ประทับนอนหงาย พระบาทเหยียดเสมอกัน พระหัตถ์วางทับซ้อนกันบนพระอุระหรือพระนาภี ในประเทศไทยมีอยู่ 2 วัดคือ
- วัดพระนอน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
- วัดทุ้งน้อย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
ปางที่ 9 ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 3)
มีพุทธอิริยาบถ นอนหงาย พระองค์ทอดยาว พระบาทเหยียดขนาบกันทั้งสองข้าง พระหัตถ์วางทาบยาวขนาบพระวรกาย พระมหากัสสปะถวายบังคมอยู่เบื้องพระบาท เพื่อรำลึกถึงพุทธประวัติเมื่อครั้งงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งเพลิงไม่ลุกไหม้ต่อเมื่อพระมหากัสสปะ พระเถระผู้ใหญ่เดินทางมาถึง เพลิงก็ลุกไหม้เป็นที่อัศจรรย์ พระพุทธไสยาสน์ปางนี้ มีสร้างอยู่เพียงวัดเดียว คือวัดราชคฤห์ กรุงเทพมหานคร วัดเก่าแก่ที่ฝังศพทหารเอกผู้กล้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ “พระยาพิชัยดาบหัก” ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระยาพิชัยดาบหักเป็นผู้สร้างพระปางนี้ขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญอุทิศกุศลและไถ่บาปให้กับทหารและชาวบ้าน ที่ได้ฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากพระไสยาสน์ทั้ง 9 ปางที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะพิเศษที่เรียกกันว่า “พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” หรือ “พระเจ้าเข้านิพพาน” ลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพก่อนการถวายพระเพลิง โดยที่ปลายด้านหนึ่งมีพระบาท 2 ข้างยื่นออกมา ซึ่งเท่าที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 2 วัด คือ วิหารหลวงพ่อพวง วัดท่าฬ่อ ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุการสร้างมากว่า 100 ปี และวิหารแกลบ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก
วิหารจตุรมุข วัดพระลอย
วิหารทรงจตุรมุข ที่มุขด้านหน้ามีหลังคาต่อเติมออกมายืนออกไปถึงท่าน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาไหว้พระ ด้านหน้าของวิหารหันไปทางด้านแม่น้ำท่าจีน ซึ่งถือว่าเป็นด้านหน้าวัดในสมัยก่อนที่การเดินทางจะใช้ทางเรือเป็นหลัก ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์เหมือนในสมัยนี้
นอกจากหลวงพ่อพระลอยแล้ว ในวิหารพระลอย ยังมีพระพุทธรูปที่งดงามปางต่างๆให้้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามากราบไหว้ปิดทอง เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย
ปูชนียบุคคล หลวงพ่อบุญ ปัญญาวุโธ
“หลวงพ่อบุญ ปญฺญาวุโธ (พระครูปลัดบุญส่ง) หลวงพ่อบุญอดีตเจ้าอาวาสวัดพระนอน (อุทยานมัจฉา) ต.พิหารแดง เมือง สุพรรณบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดอ่าวน้อย(เขาถ้ำ) อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลวงพ่อบุญ เดิมชื่อบุญส่ง (ทุย) อยู่สบาย เกิดปี พ.ศ. 2485 เป็นพระนักพัฒนา อุปสมบทครั้งแรกที่วัดราชสิทธาราม(วัดพลับ) เป็นศิษย์หลวงพ่อเชื้อ ติสสโร (พระครูญาณสิทธิ์) วัดราชสิทธาราม แล้วย้ายไปอยู่ วัดวังลาน (พรมกิตยาราม) จ.กาญจนบุรี 3 ปี วัดเขายี่สาร จ.สมุทรสาคร 5 ปี วัดพระนอน จ.สุพรรณบุรี 30 ปี วัดอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 8 ปี และวัดสุดท้ายที่ท่านก็ได้มาเป็นเจ้าอาวาสคือวัดเขากะอางค์(กิตติจิตราราษฏร์บำรุง) ต.เขาสามสิบหาบ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เมื่อกรกฏาคม พ.ศ.2554
หลวงพ่อบุญ ปัญญาวุโธ อดีตเจ้าอาวาส วัดพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี
ตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าถ้ายุคใด สมัยใดชาวพุทธใจบาปหยาบช้า สมัยนั้นยุคนั้นพระศาสนาจะเสื่อมลง แต่ถ้ายุคใดสมัยใด ชาวพุทธทั่วไปมีศรัทธาใจบุญมากๆ ยุคนั้นสมัยนั้นพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระมหากัสสปว่า ดูก่อนกัสสป ถ้ายุคใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา มีความสนใจศึกษา ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและช่วยกันประกาศพระธรรมวินัยของเราตถาคตจะเจริญรุ่งเรืองแต่ถ้ายุคใดสมัยใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา ไม่มีความสนใจยินดีศึกษา ประพฤติปฏิบัติธรรมและไม่ช่วยกันเผยแพร่พระธรรมวินัย สมัยนั้นยุคนั้น พระธรรมวินัยของเราตถาคตจะเสื่อมสลาย ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมสลาย ก็เพราะชาวพุทธประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นเกณฑ์สำคัญ
หลวงพ่อบุญ ปัญญาวุโธ ท่านเป็นพระนักปฏิบัติและพัฒนา มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ท่านให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่เดินทางไปขอพึ่งพาบารมีท่าน โดยยึดถือท่านเป็นที่พึ่งทางใจท่านก็ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่น่านับถือ ศรัทธา เลื่อมใสอีกรูปหนึ่งที่มีศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศทั้งในและนอกประเทศหลั่งไหลไปกราบนมัสการท่านไม่ว่างเว้น นั่นเป็นเพราะท่านเป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยความเมตตากรุณาคร่ำเคร่งกับการปฏิบัติและท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีวิชาความรู้สรรพวิชามากมายจากพระเกจิอาจารย์ชั้นบรมครูที่ท่านศึกษามาจากนิมิตในระหว่างปฏิบัติ
หลวงพ่อบุญ ปัญญาวุโธ ท่านเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นท่านชื่อบุญส่ง นามสกุล อยู่สบาย ชื่อเล่น ทุย เป็นคนกรุงเทพฯ บ้านอยู่ใกล้ๆกับวัดราชสิทธาราม หรือที่เราท่านรู้จักกันว่าวัดพลับนั่นเอง โยมบิดาของท่านชื่อ คุณพ่อประสงค์ โยมมารดาของท่านชื่อ คุณแม่ทองคำ นามสกุล อยู่สบาย ซึ่งหลวงพ่อบุญ ท่านบอกว่า โยมบิดามารดาของท่านเล่าให้ท่านฟังว่า ในวัยเด็กของท่านนั้นซึ่งตอนนั้นท่านยังเด็กมากยังคำความไม่ได้ เกือบที่จะเลี้ยงไม่รอดเพราะท่านมีโรคประจำตัวเป็นโรคลมชักอยู่เป็นประจำ โยมบิดามารดาไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยตัดสินใจไปหาหลวงพ่อชื้น ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์อยู่ที่วัดราชสิทธารามที่อยู่ใกล้ๆบ้านนั่นแหละ
โดยนิมนต์ท่านให้ท่านช่วยรักษาให้เนื่องจากว่าหลวงพ่อชื้นท่านเป็นพระที่มีวิชาความรู้ทางการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วไป อีกทั้งหลวงพ่อชื้นท่านยังเป็นพระที่ได้รับประกาศนีย์บัตรความสามารถประกอบโรคศิลปแบบแผนโบราณ และปรุงยาจากสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ซึ่งท่านมีชื่อเสียงในการรักษาโรคมาก หลวงพ่อชื้นก็รับรักษาเด็กชายบุญจนท่านหายจากโรคดังกล่าวทำให้โยมบิดาและมารดาของหลวงพ่อบุญเกิดความศรัทธาในหลวงพ่อชื้นเป็นที่สุด
หลังจากนั้นจึงได้ยกหลวงพ่อบุญหรือเด็กชายบุญให้เป็นบุตรบุญธรรมของหลวงพ่อชื้นตั้งแต่บัดนั้นมา จนกระทั่งเด็กชายบุญหรือหลวงพ่อบุญท่านเจริญเติบโตขึ้นมาหน่อย ท่านก็แวะเวียนไปรับใช้หลวงพ่อชื้นที่วัดเป็นประจำ โดยช่วยท่านบดยา ตากสมุนไพร จัดเตรียมยา หรือถ้าหากว่าหลวงพ่อชื้นจะต้องออกไปรักษาคนป่วยนอกวัดท่านก็ต้องมีหน้าที่ติดตามไปเป็นลูกมือทุกครั้งไป
เนื่องจากได้อยู่ไกล้ชิดและเป็นผู้ช่วยหลวงพ่อชื้น จึงทำให้ได้มีโอกาสได้รับความรู้ในเรื่องของตัวยาสมุนไพรเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาแพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่เด็กๆ และได้รับการศึกษาชี้แนะจากหลวงพ่อชื้น จนในเวลาต่อมาหลวงพ่อชื้นท่านมีอายุมากขึ้น สังขารที่ไม่เที่ยงก็เริ่มจะไม่ไหวเมื่อเกิดมีผู้เจ็บป่วยต้องการให้รักษาท่านก็มักจะใช้ให้หลวงพ่อบุญซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น เดินทางไปรักษาแทนท่านบ้าง และบางครั้งก็ให้จัดหายาให้คนป่วยแทนท่านบ้าง ในเวลาต่อมาท่านก็ให้หลวงพ่อบุญเป็นคนรักษาแทนไปเลย
ซึ่งหลวงพ่อบุญถึงแม้จะเป็นวัยรุ่นแต่ด้วยวิชาที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กจนโตนั้นสามารถจดจำได้อย่างขึ้นใจ ท่านจึงสามารถรักษาโรคต่างๆได้ หลวงพ่อบุญท่านเล่าว่า จากการที่ท่านได้ออกรักษาโรคแทนหลวงพ่อชื้นได้ดีไม่แพ้อาจารย์จนมีหนังสือพิมพ์ไปพิมพ์ข่าวตั้งฉายาให้ท่านว่า “หมอเทวดา” เพราะท่านจะถนัดในเรื่องการรักษาคนที่เป็นอัมพฤต อัมพาต โรคภูมิแพ้ หืดหอบ แต่ท่านก็มิได้ลำพองในชื่อเสียงใดๆ ยังคงเป็นศิษย์ผู้รับใช้หลวงพ่อชื้นอยู่ตลอด
หลวงพ่อบุญกล่าวว่า ในเวลานั้นทางบ้านคือโยมบิดาและมารดาของท่านไม่ทราบว่าลูกชายนั้นวันๆหายไปไหน ในใจท่านคงคิดแต่ว่าลูกชายคงจะไปเที่ยวเตร่ตามประสาวัยรุ่นทั่วไป จนกระทั่งถึงช่วงที่หลวงพ่อบุญ ท่านอายุ 20 ปี ถึงเวลาที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร หลวงพ่อบุญท่านเล่าว่าก่อนจะออกจากบ้านไป โยมบิดาและมารดาท่านก็ให้พรส่งไปด้วยว่า “วันๆเอาแต่เที่ยวเตร่ ไปเป็นทหารสักหน่อยจะได้อยู่ติดบ้านนะ” และในวันที่เกณฑ์ทหารวันนั้นท่านก็จับได้ใบแดง ได้เป็นทหารสมใจพ่อแม่
ครั้นเมื่อหลวงพ่อบุญได้เข้ามาเป็นทหาร ท่านก็ต้องมารับหน้าที่เป็นแพทย์ทหารแบบแผนโบราณ คือการใช้ยาสมุนไพรแบบที่เคยปฏิบัติรับใช้อยู่กับหลวงพ่อชื้น ไม่ค่อยได้อยู่ติดกรมกองเท่าไรนัก แต่ถูกส่งตัวให้ไปรักษานายทหารชั้นผู้ใหญ่บ้าง ญาติพี่น้องนายทหารบ้าง กล่าวได้ว่าผู้ที่ท่านรักษานั้นมีจำนวนมากมายไม่สามารถที่จะจดจำได้ว่ามีจำนวนเท่าใด เพราะท่านเองรักษาไม่ได้คิดเงินคิดทองใดๆ โดยให้ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วไปทำบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรเท่านั้น
ดังนั้นท่านจึงเป็นคนที่มีลูกศิษย์ศรัทธามากมายตั้งแต่อายุยังไม่เท่าไร จนกระทั่งหลวงพ่อบุญครบกำหนดปลดประจำการ แต่ท่านก็ยังรักษาคนป่วยเรื่อยมา ผ่านไปได้สองเดือนหลวงพ่อบุญก็มาขอลาโยมบิดามารดาเพื่อเข้าอุปสมบท ซึ่งเป็นที่ปราบปลื้มของพ่อแม่ที่ได้เห็นบุตรชายได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุสงฆ์ ครั้นข่าวคราวการลาอุปสมบทของท่านแพร่กระจายออกไป บรรดาผู้ป่วยที่ท่านได้ไปช่วยรักษาจนหายแล้ว แต่ละท่านต่างก็เดินทางมาช่วยงานกันแน่นขนัด
หลวงพ่อบุญเล่าว่า ขนาดหมอทำขวัญในงานท่านยังมีผู้นำมาช่วยถึง 9 คน ทุกคนตั้งใจมาช่วยงานด้วยการนำข้าวปลาอาหารมากันมากมายจัดงาน 2 วัน 2 คืนโดยท่านจัดงานใน วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2509 เป็นวันทำขวัญ และวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2509 เป็นวันอุปสมบท ซึ่งในครั้งนั้นมีพระราชสิทธญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูญาณสิทธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิจิตรวิหาร แห่งวัดราชสิทธาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า “ปัญญาวุโธ ซึ่งนี่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตในเส้นทางธรรมของหลวงพ่อบุญ ปัญญาวุโธ
หลังจากที่ท่านบวชใหม่ๆนั้น ท่านได้รับการศึกษาในด้านการวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงปู่ชุ่ม และหลวงปู่ญาฌสิทธิ ในวัดราชสิทธาราม ซึ่งเป็นวัดที่มีการถ่ายทอดวิชาความรู้ในด้านสมาธิกรรมฐานเพ่งกสินมาตั้งแต่อดีตนับเนื่องถ่ายทอดกันต่อๆมาจาก สมเด็จพระสังฆราชสุก ซึ่งกล่าวกันว่า ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีคาถาอาคมเป็นเลิศสามารถทำให้ไก่ป่าหรือที่เรียกว่าไก่เถื่อน มาเป็นไก่เชื่องได้ จนได้รับฉายาว่า หลวงปู่สุก ไก่เถื่อน แห่งวัดพลับ
หลวงพ่อบุญ ท่านศึกษาจนแน่ใจในด้านการปฏิบัติ แล้วท่านก็ได้ออกธุดงค์เดินทางไปสู่เขต จ.กาญจนบุรีด้วยเท้าเปล่าในพรรษาที่ 3 ของท่าน หลวงพ่อบุญท่านไปปลักกลดอยู่ในถ้ำเมืองกาญจนบุรีถึง 3 ปี หลวงพ่อบุญท่านเล่าว่า ในช่วงชีวิตของท่านระหว่างธุดงค์นั้นท่านได้พบกับสิ่งต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างนิมิตกรรมฐาน เป็นสิ่งที่แปลก โดยเฉพาะในพรรษาที่ 6 ท่านก็ได้ย้ายมาธุดงค์ปลักกลดปฏิบัติธรรมที่ ถ้ำวัดเขาอีสาน ซึ่งในบริเวณถ้ำมีงูชุกชุมมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลกมาก ที่งูในถ้ำนี้ไม่เคยกัดใครเลย และ ในขณะที่หลวงพ่อบุญอยู่ปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำนี้เองก็มีศรัทธาญาติโยมที่เคยเป็นคนไข้ของท่านเดินทางมา ขอนิมนต์ให้หลวงพ่อบุญไปช่วยสร้างวัดพระนอน ซึ่งเป็นวัดร้าง ไม่มีพระอยู่ ไม่มีถาวรวัตถุ ชาวบ้านอยากให้ท่านสร้างให้วัดเจริญรุ่งเรือง
หลวงพ่อบุญ ท่านก็เดินทางมายังวัดร้างดังกล่าวเมื่อวันที่16 มีนาคม พ.ศ.2533 ซึ่งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ 15 ไร่ แต่สภาพความเป็นจริงแล้วทั้งที่ดินที่ถูกบุกรุกและที่ริมน้ำด้านหน้าวัดก็ถูกน้ำเซาะเหลือเนื้อที่เพียงไม่ถึง 10 ไร่ หลวงพ่อบุญท่านก็จัดการถางป่า โดยเริ่มปลูกมะม่วงและขายกิ่งพันธ์มะม่วงให้แก่ชาวบ้านทำแปลงสาธิตและจัดตั้งชมรมผู้ผลิตมะม่วงขึ้นจนมะม่วงสุพรรณกลายเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นชื่อของจังหวัด เมื่อมีรายได้จากการผลิตผลมะม่วง หลวงพ่อบุญจึงนำเงินทั้งหมดมาซื้อที่และสร้างถาวรวัตถุ สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญให้แก่วัดพระนอนจนวัดพระนอนมีเนื้อที่ดังในปัจจุบันถึง 40 ไร่ วัดพระนอน ซึ่งเป็นวัดร้างกลับมาเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรือง เงินทุกบาททุกสตางค์คือปัจจัยจากศรัทธาเป็นเงินของวัดเพื่อสาธารณะประโยชน์ หลวงพ่อบุญท่านนำมาสร้างเสนาสนะครบครัน
อีกทั้งท่านยังเป็นที่พึ่งของบรรดาศิษย์และศรัทธาโยมที่ต่างเดินทางไปหาท่านไม่ขาดสาย หลวงพ่อบุญท่านกล่าวว่า ในเมื่อวัดพระนอนมีทุกสิ่งพร้อมสรรพแล้ว ท่านก็พอมีเวลาว่าง แต่ทว่าท่านเป็นพระที่มิยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในส่วนลึกแล้วท่านต้องการที่จะสืบสานพระพุทธศาสนาให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ครั้นเมื่อวัดพระนอนหมดภาระแล้ว ท่านจะอยู่เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร จะสร้างบุญกุศลต่อไปก็สร้างไม่ได้
ท่านจึงติดต่อสอบถามพระครูศรัทธาโสพิต ซึ่งท่านเป็นพระเลขาเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่ามีวัดไหนบ้างที่อยู่ติดทะเลและเป็นวัดร้างไม่มีใครบูรณะปฏิสังขรณ์ หลวงพ่อบุญ ท่านจึงทราบว่ามีอยู่ 2 วัด คือ วัดอ่าวน้อย กับวัดบ่อทองหลาง ท่านจึงได้เดินทางมาดูซึ่งปรากฏว่า วัดบ่อทองหลาง ถึงแม้จะเป็นวัดที่มีทำเลดีแต่มีเนื้อที่น้อย และอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนที่วัดอ่าวน้อยมีเนื้อที่ 20 ไร่ และมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเกรงกลัวและให้ความเคารพมาก ซึ่งภายในภูเขาแห่งนี้มีถ้ำอยู่เจ็ดถ้ำ คือ ถ้ำที่หนึ่ง ถ้ำโมกผา เป็นถ้ำที่มีต้นโมกขึ้นเต็มไปหมด และถ้ำที่สอง ถ้ำลับแล ถ้ำนี้มีความลึกลับมาก ถ้ำที่สาม คือ ถ้ำเม้น ถ้ำที่สี่ คือถ้ำพระนอน ซึ่งในถ้ำแห่งนี้มีวัตถุโบราณมากมาย ถ้ำที่ห้า เป็นถ้ำที่มีนกนางแอ่นมาทำรังอาศัยอยู่ และถ้ำที่หก เป็นถ้ำค้างคาว ส่วนถ้ำที่เจ็ด คือถ้ำประดู่
หลวงพ่อบุญเล่าว่า บรรดาชาวบ้านในแถบนั้นเมื่อทราบว่าท่านจะมาพัฒนาวัดอ่าวน้อย ต่างก็เป็นห่วงเป็นใยต่างบอกกันว่าจะอยู่ไหวหรือ เพราะที่นี่ศักดิ์สิทธิ์และเจ้าที่แรงมาก ก่อนหน้านี้เคยมีพระมาอยู่ที่นี่ และส่วนใหญ่ก็อยู่กันไม่ได้ เมื่อทราบเช่นนั้นหลวงพ่อบุญท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะมาสืบสานพระพุทธศาสนามิได้มาหวังกอบโกยหรือหาผลประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เพียงคืนเดียวท่านก็มานิมิตบอกว่า ที่ตรงนี้เป็นของท่านและก็รอท่านมาสร้างนานแล้วทำไมไม่มา ได้เวลาแล้วที่ท่านควรจะมาพัฒนาวัดอ่าวน้อย วัดจะได้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้นหลวงพ่อบุญจึงเดินทางมาพัฒนาวัดอ่าวน้อย
หลวงพ่อบุญกล่าวว่า ท่านใช้เวลาสร้างวัด เพียงแค่ 3 ปี สร้างได้รวดเร็วเหมือนปาฏิหาริย์ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นไปได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างบารมี ในเมื่อเราทำเพื่อพระพุทธศาสนาแล้ว ถึงจะยากลำบากก็ต้องสู้และทำต่อไป ในแต่ละวันจะมีประชาชนมากราบไหว้นมัสการหลวงพ่อบุญไม่ขาดสาย ซึ่งท่านเปรียบเสมือนเป็นที่พึ่งทางใจของสาธุชน ใครมีอะไรเดือดร้อนก็ไปขอพึ่งพาบารมีขอความช่วยเหลือ ท่านก็จะช่วยเหลือทุกคนตามเหตุการณ์ปัจจัยของทุกข์นั้นท่านมีวิธีการพูดที่นุ่มนวล นับแต่อดีตเป็นต้นมาหลวงพ่อบุญเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของสาธุชนทั้งหลายที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยือนตลอดเวลา
หลวงพ่อบุญ ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2558
เที่ยวอุทยานมัจฉา วัดพระนอน จ.สุพรรณบุรี
“อุทยานมัจฉา” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด มีปลานานาชนิดชุกชุม ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด โดยทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ถือเป็นแหล่งอนุรักษ์ปลาน้ำจืดแห่งหนึ่ง มีปลาสายพันธ์พื้นเมืองมากมายอาศัยอยู่ในบริเวณหน้าวัด หากแต่ก็ไม่สามารถเห็นปลาชนิดอื่นๆได้โดยง่าย เพราะปลาสวายที่นี่ตัวใหญ่และมีจำนวนนับแสนตัว
ศาลเจ้าแม่กวนอิม โพธิสัตว์
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิมตั้งอยู่ด้วย โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาสักการะขอพรได้ เป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป
เที่ยว วัดพระนอน สุพรรณบุรี
- วัดพระนอน ได้เปิดให้ประชาชนเข้ากราบไหว้ เวลา 08.00-17.00 น. ของทุกวัน
- ค่าบูชาดอกไม้ ธุปเทียน ทอง ตามกำลังศรัทธา
- ตู้บริจาคเพื่อบำรุงวัดและสาธารณะกุศลต่าง ตามกำลังศรัทธา
- เหมาะสำหรับ ทั้งกิจกรรมครอบครัว หมู่คณะ
- ให้อาหารปลา อุทยานมัจฉาแห่งชาติ
แผนที่และการเดินทาง
“นอกจากนี้วัดพระลอยห่งนี้ ยังเป็นวัดในเส้นทางถนนสายบุญ ไหว้พระ 9 วัด ยอดฮิตของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย สามารถไหว้พระ 9 วัดในระยะทางเพียงประมาณ 6 กิโลเมตรเท่านั้น”
บริการนำเที่ยวไหว้พระ 9 วัด แบบหมู่คณะไม่เกิน 10 คน ราคาเริ่มต้นท่านละ 400 บาท (ไม่รวมค่าอาหาร)
วันเดียวเที่ยวสุพรรณ ไหว้พระ 9 วัด สอบถามเพิ่มเติม โทร. 09-9204-2940
ข้อมูลพื้นฐาน สุพรรณบุรี
ความเป็นมาที่ชื่อว่า สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีหลักฐานประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นเมืองโบราณ มีการสันนิฐานว่า มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500 – 3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี ศรีวิชัย
สุพรรณบุรี เดิมมีชื่อ “ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ “พันธุมบุรี”
ต่อมาพระเจ้ากาแต ได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ แล้วโปรดให้มอญน้อยไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ชักชวนให้ข้าราชการจำนวน 2000 คนบวช จึงขนานนามเมืองใหม่ว่า”เมืองสองพันบุรี”
ครั้งถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองมาทางฝั่งใต้หรือทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ชื่อเมืองเรียกวา “อู่ทอง” จวบจนสมัย “ขุนหลวงพะงั่ว” เมืองจึงถูก เรียกว่าชื่อว่า “สุพรรณบุรี” นับแต่นั้นมา
สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรีไหลผ่านตามแนวยาวของจังหวัดจากเหนือจรดใต้ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5,358.01 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3.3 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.2 ของพื้นที่ภาคกลางอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 107 กิโลเมตร (ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340) โดยทางรถไฟประมาณ 142 กิโลเมตร
แดนยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้น เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง
ที่เที่ยวอื่นๆในสุพรรณ