หากท่านจะหาเที่ยวเที่ยวแบบสุขใจ ไม่ไกลกรุงเทพ เมืองสุพรรณบุรีนับว่าเป็นจังหวัดที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวในวันหยุดมากๆ ด้วยมีความหลากหลายในการท่องเที่ยว อีกทั้งถนนหนทางการคมนาคมสะดวกสบายการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆใช้เวลาไม่นาน คุณก็สามารถเพลินเพลินกับช่วงวันหยุดพักผ่อนของคุณได้อย่างสบายอารมณ์ เที่ยวสุพรรณวันหยุด เราขอแนะนำวัดดังพระเครื่องเมืองสุพรรณ วัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี
วัดบ้านกร่าง ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี
วัดบ้านกร่าง วัดดังแห่งลุ่มน้ำท่าจีน ทั้งจากศีลปฏิบัต วัตรที่งดงามของครูบาอารย์เจ้าวัดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันอันน่าเลื่อมใส เครื่องลางของขลัง ตลอดจนเรื่องเล่าขานในอดีต ทำให้วัดบ้านกร่างเป็นที่รู้จัก และมีผู้คนศรัทธานิยมมากราบไหว้ขอพรเสมอ
อำเภอศรีประจันต์มี วัดบ้านกร่าง และวัดยางซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งลำน้ำ เป็นศูนย์รวมประชาชนทั้ง 2 ฝากฝั่ง ทั้งสองวัดล้วนมีเจ้าวัดผู้ทรงศีล มีปฏิปทาศีลาจารวัตรที่น่าเลื่อมใสเป็นที่นับถือของประชาชนในย่านแถบศรีประจันต์และใกล้เคียง เดิมทีอำเภอสำคัญ อำเภอใหญ่ มีอาณาเขตปกครองกว้างถึง อ.สามชุก อ.เดิมบาง อ.หนองหญ้าไซ อ. ด่านช้าง เลยทีเดียว ทำให้ชื่อเสียงวัดบ้านกร่างเป็นที่ รู้จักอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่อดีต
วัดบ้านกร่าง
ประวัติวัดบ้านกร่าง
วัดบ้านกร่างเป็นวัดเก่าแก่ สันนิฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุทธยา มีอายุราว 400 กว่าปี เนื่องจากมีการขุดค้นพบ โบราณวัตถุคือ พระเครื่องเนื้อดินเผาศิลปะแบบอยุทธยาจำนวนมาก ซึ่งพระเครื่องเหล่านั้นก็คือ พระขุนแผนวัดบ้านกร่าง นั้นเอง
เจดีย์กลางน้ำ
เจดีย์กลางน้ำวัดบ้านกร่าง เดิมเชื่อว่าสร้างอยู่กลางลำน้ำท่าจีน อย่างสวยงามเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ยิ่งช่วงเทศกาลลอยกระทงยิ่งสวยงามมาก ภายหลังทิศทางของแม่น้ำได้เปลี่ยนไป ทำให้ องค์เจดีย์ไม่ได้อยู่กลางน้ำเหมือนแต่ก่อน
เดิมทีเจดีย์นี้ถูกสร้างขึ้นโดย หลวงพ่อสิงห์ วัดยาง ในสมัยรัชกาลที่ 4 อายุ ราว 150 ปี สร้างขึ้นบนโขดหินกลางน้ำเป็นที่สวยงามน่าเลื่อมใส ทุกปีจะมีงานนมัสการองค์เจดีย์ของวัดยาง ในเทศกาลลอยกระทง
ครั้นต่อมาสมัยหลวงพ่อทวน วัดบ้านกร่าง ขัดสนปัจจัยในการทำนุบำรุงวัด จึงไปขอหลวงพ่อผอง เจ้าอาวาสวัดยางสมัยนั้น ให้วัดบ้านกร่างได้จัดงานขาย ธุปเทียนทองในงานประจำปีบ้าง หลวงพ่อผ่องอนุญาติ ต่อมาจึงผลัดกันจัดงานคนละปี เพื่อนำรายได้มาทำนุบำรุงวัดทั้ง 2 แห่งเรื่อยมา จนสายน้ำเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เจดีย์มาอยู่ทางฝั่งวัดบ้านกร่างในปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาทรงนมัสการเจดีย์กลางน้ำองค์นี้ คราวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2451 ทรงตั้งพลับพลาอยู่บริเวณด้านหน้าวัดบ้านกร่าง
หลวงปู่ทวน วัดบ้านกร่าง
พระอุปชาฌย์ทวน คงคฺสุวณฺโณ นามสกุล สุนทรวิภาต พ.ศ. 2430-2474 อดีตเจ้าอาวาสรูปที่6วัดบ้านกร่าง ศรีประจันต์
ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่ออ้น วัดดอนบุพผาราม มีประชาชนเลื่อมใสในวิทยาคมของท่านมาก เมื่อสมัยที่ท่านครองวัดบ้านกร่างนั้นท่านดำริจะหาทุนสร้างอุโบสถ ขึ้นใหม่แทนหลังเดิมจึงใด้สร้างวัตถุมงคลขึ้นมีพระว่านกับลูกอมปรอทเพื่อมอบให้ผู้บริจาค แต่แล้วท่านก็มีเหตุขัดข้องไม่ใด้สร้างอุโบสถตามที่ท่านตั้งใจ ท่านจึงนำวัตถุมงคลที่ท่านสร้างและพระขุนแผนจำนวนหนึ่งฝังใว้จนบัดนี้ไม่ทราบว่าท่านฝั่งใว้จุดใด
พระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดบ้านกร่าง ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอู่ทองเรียกว่า หลวงพ่ออู่ทอง รอบพระโอโบสถมีใบเสมา ซึ่งมีการจำลองพระขุนแผนพิมพ์ทรงพลใหญ่แทนใบเสมาธรรมจักรแบบเดิม
วิหาร
วิหารวัดบ้านกร่าง เป็นโบราณสถานเก่าแก่อายุราว 450 ปีภายในประดิษฐานหลวงพ่อแก้ว ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิแห่งลุ่มน้ำท่าจีน มักมีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้ขอพร อยู่ตลอดเวลาทุกวัน
วิหารวัดบ้านกร่าง เปิกให้เข้านมัสการกราบไหว้ หลวงพ่อแก้วตั้งแต่ 06.00 – 18.30 น.ของทุกวัน โดยทางวัดได้จัดเตรียม ดอกไม้ ธูปเทียน ทองคำเปลวไว้ให้ด้านหน้าวิหาร โดยเราสามารถร่วมทำบุญใส่ตู้บริจาคกับทางวัดได้ตามกำลังศรัทธา
หรือจะเตรียมเครื่องบูชามาถวายแก่หลวงพ่อแก้วเองก็สามารถทำได้เหมือนกัน เช่นในวันที่ admin ไปถ่ายรูปมาประกอบบทความก็มี คุณตาท่านหนึ่งมาแก้บนถวายแด่หลวงพ่อแก้วด้วยไข่ต้มหลายสิบใบ พร้อมกับกล้วย 1 หวีอีกด้วย
มณฑป
มณฑปวัดบ้านกร่าง อยู่ด้านหลังของวิหาร สร้างขึ้นใน พ.ศ.2476 ภายในประดิษฐาน พระพุทธบาทจำลอง และ พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสันนิฐานว่า สมเด็ตพระนเรศวรทรงเป็นผู้ให้สร้างเจดีย์วัดบ้านกร่างขึ้น
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่องซึ่งเล่ากันว่า เป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ บรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต
เจดีย์ (กรุขุนแผนวัดบ้านกร่าง)
พระขุนแผน
วัตถุมงคลอันศักดิ์สิทธ์แห่งดินแดนยุทธหัตธีวัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี คือสถานที่พบพระขุนแผนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งได้มีผู้พบกองพระอยู่ที่วัดบ้านกร่าง เต็มไปด้วยพระขุนแผนพิมพ์ต่างๆ จำนวนมาก
พระกรุวัดบ้านกร่างแตกกรุออกเมื่อใดไม่มีใครทราบแน่นอน โดยประมาณการว่ากรุแตก พ.ศ. 2440 เห็นพระวัดบ้านกร่างกองสุมเป็นพะเนินที่โคนต้นพิกุลหน้าวิหารหลังเก่า สันนิษฐานว่าองค์พระเจดีย์คงพังทลายลงมา พระเณรจึงช่วยกันรวบรวมพระเครื่องมากองไว้ที่ใต้ต้นพิกุล ในสมัยนั้นก็ยังไม่ค่อยมีคนสนใจใดนัก
ต่อมามีชาวเรือที่เป็นคน ต่างถิ่น นำเอาสินค้าร่องเรือมาค้าขายที่สุพรรณฯ จอดพักเรือที่ท่าน้ำหน้าวัด บางคนก็ขึ้นไปเที่ยวในวัดบ้านกร่างและเก็บเอาพระวัดบ้านกร่างติดตัวกลับไป กันมาก ชาวบ้านแถบนั้น มีบางคนเอาพระไปเก็บไว้คนละพานสองพาน เพื่อฝูงญาติมิตรต่างถิ่นไปมาหาสู่ก็แจกพระไปคนละองค์สององค์ ต่อมามีผู้นำพระบ้านกร่างติดตัวไปแล้วไปเกิดถูกทำร้ายแต่ไม่เป็นอะไร จึงเกิดความนิยมกันมากขึ้น เกิดการเสาะหาพระบ้านกร่างกันมากขึ้นเป็นลำดับ พระที่กองไว้ที่วัดก็อันตรธานหายไปหมด
ปูชยียบุคคล
หลวงพ่อวัดบ้านกร่าง พระเมธีธรรมสาร (ไสว ธัมมสาโร) อดีตเจ้าอาวาส
ชาวอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หากเป็นผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว น้อยคนจะไม่รู้จัก “หลวงพ่อวัดบ้านกร่าง” หรือพระเมธีธรรมสาร (ไสว ธัมมสาโร) อดีตเจ้าอาวาสอำเภอศรีประจันต์ ซึ่งมรณภาพนานกว่า ๓๐ ปีแล้ว ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านแม้จนทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขวัญ (ซึ่งท่านทำอยู่บ้างแต่น้อยมาก) หากเป็นเพราะศีลาจารวัตรของท่านนั้นน่าเลื่อมใส นอกจากมีความเที่ยงธรรมและมั่นคงในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านยังมีความเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของชาวบ้านและเพื่อความเจริญงอกงามของพระศาสนา
ในยุคของท่านมีการสร้างสาธารณูปการมากมาย โดยเฉพาะด้านการศึกษาทั้งสำหรับเยาวชนและพระสงฆ์ แต่ที่ประทับใจคนไม่น้อยก็คือปฏิปทาของท่านซึ่งมุ่งความถูกต้องเป็นที่ตั้ง โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ
มีนายอำเภอศรีประจันต์คนหนึ่งเป็นคอสุรา ชอบตั้งวงกินเหล้าในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่วัดเป็นประจำ เท่านั้นไม่พอยังร้องรำทำเพลงส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ท่านเห็นว่าเขาคงไม่เลิกง่าย ๆ จึงเข้าไปเอ็ดว่า ในเขตวัดห้ามคนมากินเหล้าส่งเสียงอึกทึก นายอำเภอควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน นับจากวันนั้นนายอำเภอผู้นั้นก็ไม่กล้าไปกินเหล้าส่งเสียงเฮฮาในเขตวัดอีก ท่านเล่าภายหลังว่า ถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง ท่านจะเอาเรื่องให้ถึงกรมการปกครอง
คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์เป็นกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน มีผู้แทนจากกรมศิลปากรนำหุ่นจำลองอนุสาวรีย์เสนอต่อที่ประชุม มีหุ่นพระอาจารย์ธรรมโชติยืนอยู่กลางหมู่วีรชนคนอื่น ๆ เมื่อประธานถามความเห็น กรรมการทุกคนก็เห็นด้วย แต่ท่านนิ่งอยู่ ไม่ออกความเห็นสนับสนุน ประธานจึงถามว่า “ทำไมหลวงพ่อไม่ออกความเห็นเลยครับ”
ท่านชี้แจงว่า “ถ้าให้อาตมาออกความเห็น ก็จะเป็นการคัดค้านความเห็นชอบของทุกคน” แล้วท่านก็อธิบายว่า ตามพระวินัย พระไปดูหรือไปในกระบวนทัพไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น แต่ก็อยู่ได้ไม่เกินสามวัน ระหว่างที่อยู่ในกองทัพตามกำหนดนั้น ถ้าไปดูเขารบกันก็ดี ดูเขาตรวจพลก็ดี ดูเขาจัดกระบวนทัพก็ดี หรือดูหมู่เสนาที่จัดเป็นกระบวนแล้วก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จึงไม่ควรมีรูปพระอาจารย์ธรรมโชติอยู่ในหมู่นักรบชาวบ้านบางระจัน อีกทั้งตามประวัติท่านก็ไม่ได้ออกไปกับกองทัพ เพียงแต่รับนิมนต์มาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น แจกผ้ายันต์ รดน้ำมนต์ให้เป็นขวัญและกำลังใจจเท่านั้น
ท่านจึงเสนอว่าอนุสรณ์ของพระอาจารย์ธรรมโชติจึงควรแยกไปอยู่ที่วัด จึงจะถูกต้องตามพระวินัย และไม่เสียหายแก่พระศาสนาและตัวพระอาจารย์ธรรมโชติเองด้วย กรรมการทุกคนฟังแล้วก็เห็นด้วยกับท่าน ด้วยเหตุนี้อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันจึงไม่มีหุ่นพระอาจารย์ธรรมโชติอยู่ด้วย
ในด้านวัตรปฏิบัติส่วนตัว ท่านก็ถือเคร่งครัด อาทิ ไม่เอาของสงฆ์มาเป็นของส่วนตัว มีการแยกแยะอย่างเด็ดขาด แม้บางเรื่องดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาของคนทั่วไป
อาจารย์ผู้หนึ่งเล่าว่าเคยบวชเรียนอยู่กับท่าน ท่านจึงเอาปิ่นโตที่เป็นของสงฆ์มาให้ยืมใช้ เมื่อใกล้วันลาสิกขา ท่านสั่งว่า พรุ่งนี้พอฉันเช้าเสร็จ ก่อนลาสิกขา ให้เอาปิ่นโตมาคืน เพราะเป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ของ ๆ ท่าน
อาจารย์ท่านนี้ยังเล่าอีกว่า เมื่อลาสิกขาแล้ว ก่อนออกจากวัด ได้ยืมหนังสือที่อยู่ในกุฏิท่านสองเล่ม ท่านหยิบไปดูแล้วบอกว่า “ยืมเอาไปอ่านก็แล้วกัน หลวงตาต้องทบทวนดูก่อนว่าเป็นหนังสือของวัดหรือของหลวงตาเอง”
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ท่านเขียนหนังสือให้ลูกศิษย์ถือมาให้อาจารย์ท่านนี้ว่า “หนังสือสองเล่มนั้น หลวงตาตรวจสอบดูแล้ว ไม่ใช่เป็นของวัด เป็นหนังสือของหลวงตาเอง ฉะนั้นไม่ต้องเอามาคืน หลวงตาให้เลย”
ในส่วนที่เป็นเงินของวัดนั้น ท่านละเอียดลออมาก ไม่ยอมให้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เช่น ห้ามเปิดไฟหรือน้ำทิ้งไว้ นอกจากกำชับพระเณรแล้ว ท่านยังออกตรวจตราอยู่เสมอ ใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกท่านดุ
ท่านย้ำนักหนาว่า วัดอยู่ด้วยเงินที่ชาวบ้านถวาย ชาวบ้านทำงานเหนื่อยยาก พระจะเอาเงินชาวบ้านมาใช้ฟุ่มเฟือยไม่ได้ แต่จะต้องประหยัดยิ่งกว่าชาวบ้าน ไม่ควรมีความเป็นอยู่ฟุ้งเฟ้อหรูหรากว่าชาวบ้าน
ด้วยปฏิปทาดังกล่าว ท่านจึงเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน และสามารถชักชวนชาวบ้านมาร่วมแรงร่วมใจพัฒนาชุมชนครั้งแล้วครั้งเล่าจนเจริญก้าวหน้า ดังปรากฏให้เห็นกระทั่งทุกวันนี้
ต้นตะเคียนยักษ์ วัดบ้านกร่าง
นอกจากนี้วัดบ้านกร่างยังมีต้นตะเคียนยักษ์ ที่ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงให้ความเคารพ จากการสอบถามชาวบ้านแถวนั้น เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อนมีโรงเลื่อยไม้อยู่ไม่ห่างไกลจากวัดนัก ได้นำต้นตะเคียนมาถวายพลวงพ่อที่วัดเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ไว้ใช้สร้างศาลา โดยทำการแปรรูปเป็นไม้แผ่นเพื่อใช้งานตามที่หลวงพ่อท่านจะเห็นสมควร มีไม้ตะเคียนต้นใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแปรรูปอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่อท่านได้ฝันว่า มีนางตะเคียนออกมาร้องไห้คร่ำครวญว่าไม่อยากให้แปรรูปเป็นไม้แผ่น ท่านจึงไปทำการค้นดู มีไม้ตะเคียนยักษ์อยู่ต้นหนึ่งที่ใหญ่โตมาก จึงได้นำออกมาตั้งไว้ ต่อมาชาวบ้านได้มากราบไหว้บูชาและขอพร ก็ได้สมประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้ จึงนำดอกไม้ธูปเทียนตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์มาถวายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ล้นเกล้สรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณ
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2451 (ร.ศ.127) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ได้ตั้งพลับพลาที่ประทับที่ตำบลบ้านกร่าง ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ มีราชหัตถเลขา กล่าวถึงเจดีย์วัดบ้านกร่าง ว่า
“พลับพลาที่ประทับนี้ตั้งที่ตำบลบ้านกร่าง ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ฝั่งตะวันออก ตรงกับวัดที่ชื่อเดียวกันข้าม มีพระเจดีย์กลางน้ำองค์หนึ่ง เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอยู่ข้างว่าเขื่อง เป็นสถานที่ราษฎรมาประชุมไหว้พระในงานวันเพ็ญเดือน 12 (วันลอยกระทง) ของทุกปี”
สุนทรภู่ เดือนทางเยือนเมืองสุพรรณบุรี
สุนทรภู่ กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ได้เดินทางเยือนเมืองสุพรรณบุรี โดยทางเรือมาทางแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ปี พ.ศ. 2384 ได้แต่งโคลงนิราศสุพรรณ มีความยาวถึง 463 บท เมื่อเดินทางถึงวัดบ้านกร่าง ได้แต่งกลอนตอนหนึ่งกล่าวถึงวัดบ้านกร่าง ว่า
ถึงย่านบ้านกร่างเวิ้ง วาริน
เกิดแก่งแหล่งเหวหิน ฮ่วงคุ้ง
ปล่องน้ำท่ำกุมภิน พวกเงือก เลือกแฮ
ยามเปลี่ยวเสียวทรวงสะดุ้ง ด่วนพ้นวนวัง
แผนที่และการเดินทาง
การเดินทางสู่ วัดบ้านกร่าง
ข้อมูลพื้นฐาน สุพรรณบุรี
ความเป็นมาที่ชื่อว่า สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีหลักฐานประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นเมืองโบราณ มีการสันนิฐานว่า มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500 – 3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี ศรีวิชัย
สุพรรณบุรี เดิมมีชื่อ “ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ “พันธุมบุรี”
ต่อมาพระเจ้ากาแต ได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ แล้วโปรดให้มอญน้อยไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ชักชวนให้ข้าราชการจำนวน 2000 คนบวช จึงขนานนามเมืองใหม่ว่า”เมืองสองพันบุรี”
ครั้งถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองมาทางฝั่งใต้หรือทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ชื่อเมืองเรียกวา “อู่ทอง” จวบจนสมัย “ขุนหลวงพะงั่ว” เมืองจึงถูก เรียกว่าชื่อว่า “สุพรรณบุรี” นับแต่นั้นมา
สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรีไหลผ่านตามแนวยาวของจังหวัดจากเหนือจรดใต้ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5,358.01 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3.3 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.2 ของพื้นที่ภาคกลางอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 107 กิโลเมตร (ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340) โดยทางรถไฟประมาณ 142 กิโลเมตร
แดนยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้น เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง