ปลดล็อคกัญชา
ประชาชนทำอะไรได้ ปลูก ซื้อ-ขาย ครอบครอง ทำอาหาร ผิดกฎหมายหรือไม่?? มาหาคำตอบที่นี่
Table of Contents
ประเด็นร้อน กัญชา ถูก-ผิด กม. กันแน่
25 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรีนั่งเป็นประธาน ได้บทสรุปการปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
หลังจากที่เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายปราบปราม เพราะฝ่ายหนึ่งยืนยันว่ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ได้ถอด “กัญชา” จากยาเสพติดแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายก็ยืนยันว่ายังไม่ถอดและมีความผิดตามกฎหมาย ต้องดำเนินคดี
เมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนนี้ เท่ากับว่า จากนี้ไป กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติด และไม่มีบทลงโทษตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดอีกต่อไป แต่จะมีกการออกกฎหมายควบคุมอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำไว้ก่อนว่าการตัดสินใจครั้งนี้ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรออีก 120 หลังประกาศในราชกกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งระหว่างนั้น ทางพรรคภูมิใจไทยและ อย. กำลังเร่งทำกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมกัญชาต่อไป
มติ ป.ป.ส.
เวลาประมาณ 17.30 น. บอร์ด ป.ป.ส. ที่มีรองนายกฯ วิษณุเป็นประธานได้อนุมัติที่จะถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แต่ยังคงสารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีค่า THC เกินกว่า 0.2% เป็นยาเสพติดอยู่ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจา
หมายความสั้นๆ กระชับว่า หลังจากนี้ 120 วันรัฐไทยจะไม่สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดกับกัญชาได้อีกแล้ว ดังนั้น การปลูก ซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก จึงกระทำได้ตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎหมายอื่นมาควบคุม (กระทรวงสาธารณสุขกำลังร่างกฎหมายควบคุมอยู่ เนื้อหาอยู่ด้านล่าง)
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ต้องมีกฎหมายควบคุมกัญชาเพราะตามอนุสัญญา UPOV 1961 ที่นานาประเทศตกลงร่วมกัน ไม่ได้ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายควบคุม ซึ่งถ้าลองนึกภาพจะเช่นเดียว ยาสูบที่กำหนดอายุขั้นต่ำ 18 ปีในการใช้เป็นต้น
อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงการปลูกกัญชาเสรีว่า
“จากนี้ไปจะสามารถปลูกได้ง่ายแต่ต้องจดแจ้งก่อน และต้องปลูกตามจำนวนที่กำหนด ไม่นำไปสกัดเพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรม หากสกัดเป็นน้ำมันต้องขออนุญาต”
อะไรทำได้-ไม่ได้
พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง พ.ศ.25..
แม้วันนี้บอร์ด ป.ป.ส. จะมีมติถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แล้ว แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ชี้แจงว่า กำลังมีการร่าง พ.ร.บ.กัญชาและกัญชง พ.ศ… กล่าวคือ จะมีกฎหมายตัวใหม่ที่มาควบคุมพืชชนิดนี้ เช่นเดียวกับบุหรี่และสุรา
โดยเนื้อหาจากคำแถลงคร่าวๆ คือ
- กัญชาและกัญชงไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มีค่าสาร THC เกินกว่า 0.2% อาทิ น้ำมัน หรือยางกัญชา ที่ยังคงนับว่าเป็นยาเสพติด
- การครอบครองและใช้ไม่ว่าส่วนใดก็ตามของกัญชา (เมล็ด, ดอก, ราก, ใบ, ก้าน, กิ่ง,….) ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จะมีข้อกำหนดบางประการ เช่น ต้องเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ห้ามสตรีมีครรภ์หรือที่กำลังให้นมบุตร แต่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ก็สามารถพิจารณาจ่ายได้
- การผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย สกัด โฆษณา จำเป็นต้องขออนุญาต และมีข้อจำกัดเดิม เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่สูงที่สุด
- ปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนไม่จำเป็นต้องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหรือวิสาหกิจชุมชนแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้องแจ้งกับภาครัฐเพื่อขออนุญาตก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
- ปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมสามรถกระทำได้ แต่ยังข้อมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้องขอใบอนุญาต และข้อจำกัดอื่นๆ ที่กำหนดไว้ เช่น ผู้ขออนุญาตต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
- การใช้ในเชิงสันทนายังไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ได้มีการถามต่อว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการใช้ในเชิงสันทนาการ เลขาฯ อย. ตอบว่า อยู่ที่วิจารณญาณของประชาชน และจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจตามบ้านที่จดแจ้งเรื่อยๆ
- กำลังมีการพิจารณาเปิดบางพื้นที่ (แซนด์บ็อกซ์) สำหรับใช้ในเชิงสันทนาการ
ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงร่างกฎหมายเท่านั้น และยังต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ การเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ ดังนั้น อยากให้ทุกคนที่ติดตามข่าวของกัญชาดูอย่างใกล้ชิด ว่าในเรื่องรายละเอียดจะมีการปรับอย่างไรต่อไป
สถานะ กัญชาเสรี ปัจจุบัน
ในตอนนี้ยังต้องรอให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาและนับถอยหลังไปอีก 120 วันถึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งระหว่างนั้น คาดว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นเข้ามาควบคุมสมุนไพรชนิดนี้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี การประชุมในครั้งนี้เท่ากับว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดสำหรับสังคมไทยอีกต่อไป หรือบทลงโทษหรือข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ยาเสพติด ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับกัญชาได้นั่นเอง
สถานะการใช้ กัญชา ปัจจุบัน
สำหรับกรณีที่สามารถครอบครองและใช้กัญชาได้ตามกฎหมายปัจจุบันคือ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 มีดังนี้
- หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าทีศึกษาและวิจัย จัดการเรียนการสอน หรือให้บริการทางการแพทย์
- แพทย์ทั้งหลาย รวมถึงหมอพื้นบ้าน
- สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่สอนเกี่ยวกับการแพทย์
- เกษตรกรที่ต้องการปลูกต้องรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และจดแจ้งกับหน่วยงานภาครัฐ
- สำหรับการใช้งาน ผู้ที่สามารถทำได้ในตอนนี้อย่างแน่นอนแล้วคือ กลุ่มผู้ป่วย ที่ได้รับใบอนุญาตจากแพทย์
#ปลดล็อคกัญชา #กัญชา #กัญชาเสรี #กัญชาเพื่อการแพทย์ #ปลูกกัญชา #ถอดกัญชาจากยาเสพติด #กัญชาไม่ผิดกฎหมาย